ฮอร์โมน DHT คืออะไร น่ากลัวหรือไม่ ?

ฮอร์โมน DHT

หลาย ๆ ท่านคงทราบแล้วว่า สาเหตุหลักของการผมร่วงเกิดจากพันธุกรรม แต่มันเกิดขึ้นได้อย่างไรล่ะ แล้วเราสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดการผมร่วงได้หรือไม่ บทความนี้จะพาไปรู้จักฮอร์โมนตัวหนึ่งที่เป็นปัจจัยในการเกิดการผมร่วง ผมบาง และไขข้อสงสัยเหล่านี้

ฮอร์โมน DHT คืออะไร

ฮอร์โมน DHT หรือ Dihydrotestosterone Hormone เป็นฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่ง มีหน้าที่พัฒนาลักษณะทางเพศของผู้ชาย แต่ลักษณะนั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ในเพศหญิงเช่นเดียวกัน ซึ่งเหมือนกับฮอร์โมนเพศชายอย่าง Testosterone ที่มีการแสดงออกในลักษณะที่บ่งบอกความเป็นชาย แต่แตกต่างกันตรงที่

Testosterone จะช่วยในเรื่องการสร้างอสุจิ ภาวะเจริญพันธุ์ แรงขับเคลื่องทางเพศ และการแข็งตัวของอวัยวะเพศ นอกจากนี้ยังควบคุมลักษณะของเพศชายอื่น ๆ อย่างการพัฒนากล้ามเนื้อ กระดูก ทำให้เสียงทุ้มต่ำ เป็นต้น

DHT แตกต่างตรงการเน้นไปที่เรื่องขนเป็นส่วนใหญ่ ฮอร์โมนนี้จะสร้างขนบนใบหน้า รักแร้ หัวหน่าว และขนอื่น ๆ ตามร่างกาย รวมไปถึงเส้นผมนั่นเอง

ฮอร์โมน DHT ทำให้ผมร่วงได้อย่างไร ?

ฮอร์โมน DHT เป็นสาเหตุหลักของการผมร่วง หากมีในปริมาณที่มากเกินไป แต่ร่างกายของเราไม่ได้ผลิตเจ้าฮอร์โมนตัวนี้โดยตรง แต่เกิดจากการที่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ไปจับกับเอนไซม์ 5α-Reductase และกลายสภาพมาเป็นเจ้าฮอร์โมน DHT นี้นั่นเอง แต่ฮอร์โมนเพศชาย หรือ Testosterone นี้ ไม่ได้มีเพียงในเพศชายเท่านั้น แต่ยังพบได้ในเพศหญิงด้วย ซึ่งฮอร์โมนนี้ผลิตจากอัณฑะในเพศชาย รังไข่ในเพศหญิง รวมไปถึงต่อมอื่น ๆ ในร่างกาย อาทิเช่น ต่อมหมวกไต นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผู้หญิงเองก็สามารถผมร่วงได้จากปัจจัยนี้เหมือนกัน

ซึ่งการทำงานของ DHT นี้ ส่งผลต่อเส้นผมโดยการทำให้เส้นผมบนหนังศีรษะค่อย ๆ เล็กลง ผมที่งอกออกมาก็จะบางลง อ่อนแอลง จนสุดท้ายเส้นผมจะไม่สามารถขึ้นได้ เซลล์รากผมในตำแหน่งนั้นก็จะฝ่อไป ทำให้เกิดอาการผมบาง จนศีรษะล้าน เถิก ในที่สุด

ส่วนผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ผมบางจากพันธุกรรม ก็เป็นผลมาจากฮอร์โมน DHT เช่นกัน เนื่องจากพันธุกรรมทำให้รากผมและหนังศีรษะตอบสนองกับฮอร์โมน DHT ได้มากเป็นพิเศษ จนทำให้ผมบาง ศีรษะล้านไวกว่าปกติ และหากเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ผมร่วงผมบางอยู่แล้ว DHT จะยิ่งส่งผลได้มาก เนื่องจากพันธุกรรมจะทำให้ Androgen Receptor ที่รากผมทำงานได้ดีมากขึ้น DHT จึงเข้าไปทำให้ผมร่วง ผมบางได้มากขึ้น

สามารถยับยั้งฮอร์โมน DHT ได้หรือไม่

การแก้ปัญหาเรื่องฮอร์โมน DHT ในปัจจุบันจะเป็นการใช้ยา Finasteride ในการรักษาเป็นหลัก โดยยาตัวนี้จะทำหน้าที่ขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ 5α-Reductase ทำให้ฮอร์โมน Testosterone ถูกเปลี่ยนเป็นฮอร์โมน DHT น้อยลง จึงทำให้เกิดการผมร่วงน้อยลงนั่นเอง

แต่หากหนังศีรษะบาง ล้าน เถิก จากการโดนผลกระทบจากฮอร์โมน DHT ไปแล้ว การใช้ยาไม่สามารถช่วยในการแก้ปัญหาได้ เนื่องจากการใช้ยาจะตอบโจทย์สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการผมร่วง ผมบาง หรือในกรณีที่ไม่อยากให้ฮอร์โมน DHT ส่งผลกระทบต่อเส้นผม และทำให้เกิดผมร่วงมากไปกว่าเดิม หากปัญหาคือมีอาการศีรษะล้าน เถิก อยู่แล้วนั้น การฉีดรักษา หรือการปลูกผมจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า

ข้อดีของการปลูกผม

เมื่อนำผมจากท้ายทอยมาปลูกลงไป จะทำให้ได้ผมใหม่ที่ขึ้นอย่างถาวร ไม่ร่วง ไม่บางง่ายจากการโดนผลกระทบของฮอร์โมน DHT เหมือนกับผมเดิม จึงนับเป็นการปลูกผมธรรมชาติ ที่สามารถแก้ไขปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านได้อย่างถาวร

ทั้งนี้ ฮอร์โมน DHT ควรมีในปริมาณที่พอดี อย่างที่เราทราบว่าหากมีในปริมาณที่มากเกินไปก็จะทำให้เกิดการผมร่วง ผมบางได้ แต่หากมีในปริมาณที่น้อยเกินไปก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ตามมาได้เช่นกัน อาทิเช่น เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคหลอดเลือดหัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับการสะสมไขมันในร่างกาย อวัยวะเพศ และอวัยวะที่เกี่ยวข้องเช่นอัณฑะ และต่อมลูกหมาก ไม่เจริญตามที่ควร เป็นต้น