Hair Loss สาเหตุของผมร่วง

ปัญหาผมร่วง ผมบาง จนศีรษะล้าน เถิก เป็นปัญหาที่กวนใจ และลดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันไปไม่ใช่น้อย หลายคนเลือกที่จะหาวิธีสารพัด เพื่อที่จะเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เส้นผมนั้นหลุดร่วงไป ทั้งการพยายามเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง แต่ก็ยังมีปัญหาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อยู่

วันนี้เราจะมาพูดกันในเรื่องของ สาเหตุของผมร่วง หรือ Hair Loss นั่นเอง เพราะหากทราบสาเหตุของการที่เส้นผมหลุดร่วงไปนั้น ก็จะได้หลีกเลี่ยงและยับยั้งก่อนที่ปัญหาจะบานปลายได้

สาเหตุของผมร่วง

โดยผมร่วงนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

Hair Loss

1. ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ (Androgenetic Alopecia)

พบได้ในทุกเพศ แต่ส่วนใหญ่จะพบในเพศชาย ซึ่งรากผมจะมีความไวต่อฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) [อ่านต่อได้ที่ DHT คืออะไร น่ากลัวหรือไม่] ทำให้เส้นผมมีอายุสั้นกว่าปกติ และเส้นผมที่เกิดใหม่มีขนาดเล็กและบางลง เห็นเป็นเส้นขนอ่อนๆ ผมจึงดูบางลง และมักจะเกิดขึ้นบริเวณกลางศีรษะและหน้าผาก ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกกระทบจากฮอร์โมน DHT มากนั่นเอง

2. ผมร่วงจากผมหยุดเจริญชั่วคราว

ในแต่ละวันจะมีเส้นผมประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ ที่หยุดเจริญและหลุดร่วงไป แต่ในบางภาวะเส้นผมที่กำลังเจริญอาจหยุดการเจริญในทันที ทำให้เส้นผมเสื่อมและหลุดร่วงเพิ่มจำนวนมากกว่าปกติ เช่น ผู้หญิงหลังจากคลอดบุตร, ทารกแรกเกิดหลังจากที่ป่วยเป็นไข้สูง, หลังการผ่าตัดใหญ่, การเจ็บป่วยเรื้อรัง, การเสียเลือด, การบริจาคเลือด, การใช้ยาบางชนิด รวมไปถึงภาวะเครียดทางจิตใจ ผมร่วงชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นใน 1 – 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะหยุดร่วงและงอกขึ้นใหม่ตามปกติ

3. ความเครียด

ความเครียดไม่ได้ส่งผลต่อภาวะผมร่วงโดยตรง แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับผมร่วงเช่น โรคผมร่วงทั่วศีรษะ (Telogen Effluvium) ซึ่งความเครียดเป็นส่วนกระตุ้นให้วงจรชีวิตของผมเร็วขึ้นจนผมร่วงเร็วกว่าปกติ ความเครียดทำให้บางคนเลือกแสดงออกในการดึงเส้นผมจนทำให้ผมร่วง และความเครียดอาจส่งผลให้เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) เนื่องจากความเครียดมีส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และส่งผลให้รูขุมขนมีขนาดเล็กลง จนไม่สามารถผลิตเส้นผมขึ้นมาได้ จึงเกิดอาการผมร่วงในที่สุด

4. ผมร่วงจากการถอนผม (Trichotillomania)

พบได้บ่อยในเด็กที่มีปัญหา กดดันทางจิตใจ ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน เด็กบางคนอาจถอนผมเล่นจนเป็นนิสัย โดยจะมีอาการถอนผมตัวเองจนผมแหว่ง หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงจะไม่มีผื่นคัน หรือเป็นขุย และจะพบเส้นผมที่เป็นตอสั้นๆ อยู่มาก เนื่องจากผู้ป่วยถอนออกไม่ถนัด 

5. ผมร่วงจากเชื้อรา (Tinea Capitis)

โรคเชื้อราที่ศีรษะ (กลากที่ศีรษะ) อาจพบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อรา โรคนี้จะทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมๆ เป็นผื่นแดง คัน และเป็นขุยหรือสะเก็ด นอกจากนี้ มักจะพบร่องรอยของโรคเชื้อรา (กลาก) ที่มือ เท้า ลำตัว หรือในบริเวณใต้ร่มผ้าร่วมด้วย 

6. ผมร่วงจากการทำผม

การทำผมด้วยการม้วนผมหรือย้อมสีผม รวมทั้งดัดผม เป่าผม หรือวิธีอื่นๆ อาจทำให้มีอาการผมร่วงได้ จากการที่หนังศีรษะอักเสบหรือเส้นผมเปาะหัก

7. ผมร่วงจากยาและการฉายรังสี

ยาที่อาจทำให้เกิดอาการผมร่วงมีอยู่หลายชนิด เช่น ยารักษามะเร็ง, การฉายรังสีในการรักษามะเร็ง, ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) ยารักษาคอพอกเป็นพิษ, ยาคุมกำเนิด และยาใช้ป้องกันโรคเกาต์ 

8. ผมร่วงจากโรคอื่นๆ

เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรค SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ก็อาจะมีอาการผมร่วง ผมบาง ร่วมกับอาการไข้เรื้อรัง ปวดตามข้อ มีผื่นปีกผีเสื้อขึ้นที่หน้า โรคเรื้อรังบางอย่างก็ทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน เช่น ไทรอยด์, ซิฟิลิส, โรคตับ และโรคไต

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลต่อการหลุดร่วงของเส้นผมอีกด้วย นั่นก็คือ การลดน้ำหนักอย่างหักโหม การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ การทานอาหารรสจัด รวมไปถึงการดูแลเส้นผมที่ผิดวิธี เช่น การสระผมด้วยน้ำอุ่น หรือการหวีผมในขณะที่ผมเปียก ก็เป็นสาเหตุของการที่เส้นผมหลุดร่วงไปเช่นเดียวกัน

วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาผมร่วง

เส้นผมที่หลุดร่วงไปนั้น ส่วนมากมีสาเหตุที่คล้ายกันคือเป็นผลมาจากฮอร์โมนหรือพันธุกรรม แต่ในแต่ละบุคคลก็อาจมีสาเหตุของการหลุดร่วงของเส้นผมที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะต้องรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นจึงควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหยุดปัญหาเหล่านี้ไว้ก่อนจะสายเกินแก้